วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

“แก่นตะวัน”พืชเศรษฐกิจทางเลือก
Filed Under : แก่นตะวัน by admin Aug.18,2011

“แก่นตะวัน”พืชเศรษฐกิจทางเลือก
“แก่นตะวัน”พืชเศรษฐกิจทางเลือก สุดยอดสมุนไพร-ตลาดต้องการสูง
หลังจาก ประภาส ช่างเหล็ก นักวิจัยชำนาญการ หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองปลูก “แก่นตะวัน” หรือ “แห้วบัวตอง” บนพื้นที่สูงในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ปลูกง่าย ให้ผลผลิตที่คุ้มต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ เนื่องจากเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง ขณะที่ตลาดในปัจจุบันมีความต้องการสูง

“แก่นตะวัน” เดิมทีเรียกว่า “แห้วบัวตอง” เป็นพืชล้ม ลุกในตระกูลเดียวกันกับทานตะวัน แต่มีหัวคล้ายกับขิงหรือข่า ลำต้นสูงราว 1-1.50 เมตร มีดอกมีสีเหลืองสดคล้ายบัวตอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโชค (Jerusalem artichoke) มีถิ่นกำเนิดแถบหนาวของทวีปอเมริกาเหนือ แต่สามารถปรับตัวได้ดีในเขตร้อน ที่สำคัญมีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ จึงมีการนำไปปลูกในทวีปยุโรป และในเขตกึ่งหนาวรวมถึงเขตร้อนอย่างในประเทศอินเดีย

ส่วนในประเทศไทย มีการนำมาปลูกในปี 2539 ต่อมา รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำสายพันธุ์แก่นตะวันเข้า มาปลูกในแปลงทดลองวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ จำนวน 24 สายพันธุ์ พร้อมทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ จึงพบว่า สายพันธุ์เคเคยู เอซี 008 (KKU Ac 008) ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 2-3 ตัน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แก่นตะวัน”

ประภาส บอกว่า จากข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของแก่นตะวัน พบว่า ส่วนหัว เหมาะที่จะรับประทานหัวสด รสชาติหวาน เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตสที่ต่อกันเป็นโมเลกุลยาว มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

“ผมเห็นว่าพืชตัวนี้มีอนาคต สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรได้ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นพืชอาหารแล้วยังเป็นพืชพลังงานด้วย คือ หัวสด 1 ตันสามารถผลิตเอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5% ได้ 100 ลิตร นำไปผสมน้ำมันเบนซิน ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้” ประภาส กล่าว

หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ บอกอีกว่า เนื่องจากแก่นตะวันชอบ สภาพภูมิอากาศหนาว จึงนำไปทดลองปลูกในแปลงทดลองของสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ 6 ไร่ เมื่อปี 2551 และนำไปปลูกที่ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ 3 งาน ที่จ.กาญจนบุรี 2 ไร่ พบว่าที่จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ให้ผลผลิตหัวสดไร่ละ 8-10 ตัน ในส่วนของพื้นที่ล่างได้ 5-6 เมตร

“ตอนที่งานเกษตรแฟร์ปี 2552 ผมนำออกบูธขาย กก.ละ 50 บาท ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกๆ งานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา ขาย กก.ละ 100 บาท หมดตั้งแต่วันแรก ข้างบูธผมมีเอกชนมาขาย กก.ละ 350-400 บาท ก็ขายหมดเหมือนกัน เพราะตลาดต้อง การสูงมาก ผมจึงส่งเสริมให้เกษตรกรบนที่สูงปลูก เพราะมีพ่อค้ามาติดต่อขอซื้อในราคากก.ละ 150 บาท นอกจากนี้เมื่อปี 2553 ทางบริษัท อูเอโน ไซแอนซ์ เทค แลบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของชาวญี่ปุ่น ให้ความสนใจที่จะรับซื้อผลผลิตเช่นกัน แต่รับปากไม่ได้ เพราะผลผลิตยังน้อยอยู่” หัวหน้าสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ กล่าว

การปลูกแก่นตะวันนั้น ประภาสบอกว่า ปลูกง่าย พรวนดินให้ร่วน ขุดหลุมลึก 2 ซม. ห่างกัน 50×50 ซม. เอาหัวชำถุงปลูกลงหลุมใช้เวลาเพียง 4 เดือน สามารถขุดผลผลิตนำมาบริโภค หรือนำไปจำหน่ายได้แล้ว และน่าจะเป็นทางเลือกของเกษตรกรด้วย